ความเป็นมา

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในปี พ.ศ. 2503 ทรงอนุรักษ์ต้นยางนา ในปี พ.ศ. 2504 ทรงให้นำพรรณไม้จากภูมิภาคต่างๆมาปลูกไว้ในสวนจิตรลดาเพื่อเป็นแหล่งศึกษาและทรงมีโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์และพัฒนาดิน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบทอดพระปณิธานต่อโดยมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง และผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดาให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศโดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)  ได้เริ่มดำเนินการโดยฝ่ายวิชาการสำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการสำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี พ.ศ. 2536 สำหรับการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมตามกรอบของแผนแม่บทของ อพ.สธ. จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 อพ.สธ. จึงได้รับงบประมาณจากสำนักพระราชวังเพื่อดำเนินงาน ในกิจกรรมต่างๆ ของ อพ.สธ. ตามกรอบแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สี่ (ตุลาคม 2549 – กันยายน 2554) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของสำนักพระราชวังและให้ อพ.สธ. ดำเนินการแยกจากโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา 

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมโครงการ อพ.สธ. โดยเป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริฯ (G6 – กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) ในปี พ.ศ. 2556 ภายใต้กรอบแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่ห้า (ตุลาคม 2554 – กันยายน 2559) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี และทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อสนับสนุนโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ