ประวัติความเป็นมา สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

        สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พื้นที่ย่านมัทรี มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ภายใต้โครงการผลิต พัฒนาพืชพรรณ และสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพล อดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เพื่อผลิต พัฒนาพืชพรรณ และเป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืช เพื่อจัดทำฐานข้อมูล และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยพื้นที่ป่าดั้งเดิมเป็นป่าเบญจพรรณ มีเนินเขาขนาดเล็ก เรียกเขาน้อย ไม้ยืนต้นที่สำรวจพบมากที่สุด ได้แก่ ไผ่ สีฟันคนทา ไม้ล้มลุกที่พบมาก ได้แก่ บุก อบเชยเถา เห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดรังนกกระจิบ เห็ดซาง เห็ดหลินจือ เป็นต้น รวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมลงต่างๆ

ต่อมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมโครงการ อพ.สธ. โดยเป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริฯ (G6 – กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) ในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้กรอบแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่ห้า (ตุลาคม 2554 – กันยายน 2559) ปัจจุบันมีการดำเนินงานภายใต้กรอบแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564) สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสนองพระราชดำริใน ครั้งนี้ด้วย โดยมีพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชจำนวน 13 ไร่ อยู่ภายในสวนพฤกษศาสตรพระเกียรติฯ ดังกล่าว

ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเท พรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ แบ่งออกเป็น 9 ส่วน ได้แก่ 1) ไม้ผลกินได้ เช่น ตะลิงปลิง มะขามป้อม มะดัน มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น 2) ไม้ดอกกลิ่นหอม เช่น บุนนาค พิกุล สารภี กฤษณา กำแพงเจ็ดชั้น ติ้วส้ม เป็นต้น 3) สวนปรง เช่น ปรงป่า ปรงแม็กซิกัน เป็นต้น 4) ปาล์ม เช่น เต่าร้าง ตาลกิ่ง ตาลฟ้า เป็นต้น 5) สวนไผ่ 6)สวนมะเฟือง 7) สวนมะม่วง 8) พื้นที่เขาน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดั้งเดิม และ9) สวนหม่อน ซึ่งพืชที่พบในสวนพฤกษศาสตร์หลายชนิดเป็นพืชสมุนไพรในตำรับยาโบราณแล ะตามภูมิปัญญาของหมอยาพื้นบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ นับว่าสวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านสมุนไพรได้อีกอย่างหนึ่งด้วย

ในปัจจุบัน สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาที่เรียนทางด้านพฤกษศาสตร์ และสำหรับการจัดอบรมให้ครูและนักเรียนทางด้านการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต การรวบรวมพันธุ์พืชที่เป็นพืชสมุนไพรใน สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้านหนึ่งต่อไปใน อนาคต

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 2. เพื่อผลิตและพัฒนาพรรณพืชในเรือนเพาะชำ 3. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและศูนย์การเรียนรู้ 4. เพื่อฝึกการอบรมเชิงปฏิบัติการ แก่เครือข่าย อพ.สธ. เยาวชน และผู้ที่สนใจ